วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

มาเรียนประวัติศาสตร์รัสเซียกันเถอะ!



จากที่เราทราบกันมาบ้างว่ารัสเซียถูกกดดันจากชาติตะวันตกและอเมริกาอยู่ขณะนี้

เรามาย้อนดูแต่ละยุคแต่ละสมัยในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซียที่ผ่านมา ไม่เห็นจะมีชาติใดทำสำเร็จสักรายนะ! ลองไปดูกันสิ!

เริ่มต้น: <<พวกคนแคระรัสเซีย ข้าจะทำให้พวกแกคุกเข่าลง>> คาร์ลที่ 7, กษัตริย์แห่งสวีเดน, ศตวรรษที่ 17
จุดจบ: สวีเดนสูญเสียอำนาจไปตลอดกาล (รัสเซียได้ทางออกทะเลบอลติค)

เริ่มต้น: <<ข้าจะเอาชนะพวกรัสเซียหลังเขา!>> เฟเดอริกซ์, จักรพรรดิแห่งเยอรมัน, ศตวรรษที่ 18
จุดจบ: ในปี 1759 รัสเซียยึดเบอร์ลิน

เริ่มต้น: <<ถึงรัสเซียจะเป็นยักษ์ก็ยังมีจุดอ่อน>> นโปเลียน, จักรพรรดิแห่งนโปเลียน, ศตวรรษที่ 19
จุดจบ: ในปี 1814 กองทัพรัสเซียบุกฝรั่งเศส

เริ่มต้น: <<ข้าจะเอาชนะสหภาพโซเวียตสิ้นปีนี้>> ฮิตเล่อร์, ผู้นำนาซี, 1941
จุดจบ: 1945 กองทัพสหภาพโซเวียตยึดเบอร์ลิน

เริ่มต้น: <<รัสเซีย ก็ใหญ่แค่ในภูธร>> บารัค โอบามา, ปธน.สหรัฐอเมริกา, 2014
จุดจบ: รอดู......

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

"เซร์กีเยฟ ปาสาด" หรือ "ซากอร์ส" อีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกนิยมจะไปเยี่ยมชม

คิดว่าหลายๆท่านที่อ่านอยู่คงเคยไปมาแล้ว แต่ก็มาอ่านได้นะ เผื่อมีอะไรที่ยังไม่รู้ หรือถ้าใครไม่เคยไปก็ขอแนะนำให้ลองไปดูสักครั้ง

เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากมอสโคว์ประมาณ 70 กม. ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆก็ถึงแล้ว

ที่นี่คือศูนย์กลางศาสนาคริสต์ออธอดอกซ์ของรัสเซีย ภาษารัสเซียเขาเรียกว่า ลาฟร่า (ЛАВРА) ซึ่งจะมีความแตกต่างกจากวัด โบสถ์ วิหาร ขอให้คำจัดกัดความว่า"อารามหลักของศาสนา" ในประเทศรัสเซียจะมรเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ที่นี่และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งใหญ่เป้นอันดับรองจากที่นี่

ภายในสถานที่แห่งนี้จะประกอบด้วยโบสถ์ วิหาร หอระฆัง หอสวดมนต์ คล้ายๆกับวัดโบสถ์อื่นๆทั่วไป แต่จะมีความแตกต่าง คือ ที่นี่เป้นโรงเรียนสอนศาสนาและวิทยาการทั้งหมดของออธอดอกซ์ตั้งแต่มัธยมยันมหาวิทยาลัย อาทิ การวาดไอคอน การร้องเพลง เป้นต้น ซึ่งเข้าเรียนได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ว่าง่ายๆว่าเป็นจุดกำเนิดและแหล่งอนุรักษ์ศาสนาเลยก็ว่าได้

สถาปัตยกรรมทั้งหมดภายในล้วนเป็นของเก่าตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ทยอยสร้างขึ้นทดแทนของเดิมที่เป็นไม้โดยซาร์หลากหลายพระองค์

ปาฎิหารย์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 700 ปีที่แล้ว!
ก่อนจะกลายเป็นอารามใหญ่ขนาดนี้ เมื่อก่อนเป็นแค่สำนักสงฆ์เล็กๆที่มีพระผู้ก่อตั้งสถานที่ขึ้น คือ พระซีร์เกย์ บำเพ็ญบุญอยู่ที่นี่เพียงลำพัง ผ่านมาไม่นานคนตาบอกได้เดินผ่านวัดแห่งนี้ และใช้หน้าที่ไหลผ่านหน้าวัเดื่มกินและล้างหน้า กลายเป็นว่าตาที่บอดก็มองเห็นอีกครั้ง เรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็ถูกเล่าต่อๆกันไปในหมู่บ้านต่างๆ
มาวันหนึ่งเด็กชายได้เสียชีวิตลงเพราะพิษไข้ พ่อแม่เดินทางมาที่วัดเพื่อให้พระซีร์เกย์ช่วยรักษาลูกตน พระได้สวดมนต์อำนวยพรให้เด็กผู้นั้น และในที่สุดเด็กกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

เรื่องเล่าต่างๆ ถูกกล่าวขานไปถึงเจ้าชายผู้ครองนครมอสโคว์ ในขณะนั้นรัสเซียได้ตกเป็นเมืองขึ้นแก่ข่านแห่งมองโกล มากว่า 100 ปีแล้ว เจ้าชายได้เดินทางมาคารวะพระซีร์เกย์และหารือถึงเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราช

พระซีร์เกย์ได้เดินทางไปทั่วแผ่นดินรัสเซีย เพื่อขอความช่วยเหลือจากเมืองต่างๆให้ส่งกองกำลังมาสนับสนุนเมืองมอสโคว์ ก่อนการออกทำศึก เจ้าชายได้ขอพรและถามพระท่า่นว่า "เราจะมีชัยหรือไม่?" พระไม่ลังเลที่จะตอบว่า "ชัยชนะจะเป็นของท่าน"

ในที่สุดการออกรบครั้งนั้นก็ทำให้รัสเซียได้รับชัยชนะเหนือมองโกลในรอบ 100 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศอิสรภาพในเวลาต่อมา

ในสมัยถัดมาๆจนถึงปัจจุบัน ผู้นำรัสเซียต่างเดินทางไปเคารพพระศพทางพระซีร์เกย์ ซึ่งมีความเชื่อว่าจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

จากรูปอาคารสีแดง คือ อาคารรับน้ำมนต์ ใช้สำหรับหน้าหนาว ส่วนด้านขวามือเป็นจุดรับน้ำมนต์กลางแจ้ง ซึ่งจะเปิดในช่วงหน้าร้อน สำหรับใครที่เข้าไปเยี่ยมชม อย่าลืมพกขวดน้ำไปกรอกน้ำมนต์ด้วย น้ำมนต์รับได้ฟรี แต่ขวดน่ะ.....เสียเงินนะ!

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อารยะและวัฒนธรรมรัสเซีย

เริ่มต้นชื่อมาก็บอกให้รู้แล้วว่ากำลังจะกล่าวถึงอะไร…. Culture หรือในภาษารัสเซียที่เรียกว่า Kultura –คูลตูร่า- รากภาษามาจากคำเดียวกันแน่นอน จำได้ไม่ยาก ที่เคยมีกล่าวไว้ว่า ชนใดไม่มีดนตรีกาลในสันดานเป็นคนชอบกลนัก…นี่แหละใครไม่มีวัฒนธรรม (ดนตรี) ในเรื่องนี้ ไปอยู่รัสเซียอาจจะดูแปลกๆ สักนิดอย่างที่ว่าไว้…ทำไมล่ะ…

อาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับใครที่มีภาพว่าคนรัสเซียติดจะมีบุคลิคแบบเย็นชา หรือดุดันหยาบกระด้างเหมือนหนังสือหรือภาพยนตร์ที่เคยดู หากได้ไปสัมผัสรัสเซีย และได้ค้นพบว่าชีวิตของคนรัสเซียมีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือการเข้าชมกิจกรรมที่เป็นการแสดงทางวัฒนธรรมและความบันเทิง โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเภทคลาสสิค ไม่ใช่เฉพาะการแสดงดนตรีประเภทร่วมสมัย นักร้องยอดฮิต pop rock ชวนกระโดดโลดเต้นเสียงกระเส่าเท่านั้น การแสดงดนตรีและความบันเทิงบนเวทีทุกรูปแบบเหล่านี้มีโฆษณาและประกาศติดตามป้ายริมถนนต่างๆ ทั่วไปมากมาย ในกรุงมอสโก จนคนอย่างเราๆ และใครที่ไม่เคยรู้จักสนใจการแสดงประเภทคลาสสิค ตั้งแต่ บัลเลต์ โอเปร่า ดนตรีคลาสสิคของคีตกวีเลื่องชื่อ เช่น Tchaikovsky Beethoven Brahm Rachmaninov หรือไปจนถึงกระทั่งละครเวที ละครร้อง (เข้าข่ายประเภทคลาสสิคด้วยมั๊ยนี่) รับรองได้ว่า หากเมื่อได้ไปถึงรัสเซีย อย่างน้อยไม่การแสดงอะไรก็อะไรสักอย่างจะต้องผ่านหูหรือผ่านตา… และเพราะที่นี่มีโปรแกรมการแสดงที่สะท้อนอารยะธรรมและวัฒนธรรมชั้นสูงเช่นนี้ให้ได้ดูได้ฟังกันอย่างดาษดื่นในชีวิตประจำวัน จนเราจะรู้สึกได้เองในที่สุดหากได้ไปสัมผัสรัสเซีย ควรจะต้องทำตัว in กับอะไรสักอย่าง ไม่งั้นอาจจะรู้สึกว่าเราช่างไร้อารยะเหลือเกิน และเหมือนเสียทีไปอยู่ที่นี่ (อะไรจะปานนั้น)

คราวนี้ก็เลยต้องมาดูกันว่า หากจะต้องไปรัสเซีย จะมีอะไรให้เลือกชมกันบ้าง รายการนี้เป็นเพียงการเกริ่นนำให้คนที่สนใจจะไปรัสเซีย ได้พยายามใส่ไว้ในกำหนดการ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง..ส่วนใครจะชื่นชมแค่ไหน หรือเข้าไปนั่งหลับ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รายการแรกที่ต้องเอ่ยถึงคือการแสดงประเภทบัลเล่ต์ รายการนี้ใครๆ ก็คงพอนึกออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร การแสดงเต้นระบำปลายเท้า ตามจังหวะดนตรีและลีลาของผู้คิดท่าทางตามบทประพันธ์ของแต่ละเรื่อง โดยอาศัยเฉพาะดนตรีวงออร์เคสตร้ากว่า 100 ชิ้น ที่บรรเลงสดๆ อยู่บนพื้นข้างล่างหน้าเวทีเป็นองค์ประกอบหลัก ไม่มีใครร้อง ไม่มีใครพูด มีแต่นักแสดงมากกว่าร้อยชีวิต ที่จะต้องแสดงความสามารถทั้งในลักษณะเฉพาะตัว และความพร้อมเพรียงเป็นหมู่ สื่อสารอารมณ์และเรื่องราวของบทประพันธ์ผ่านการเต้นไปมาอยู่บนปลายเท้าของตน ตามจังหวะของดนตรี ยิ่งเป็นตัวเอกฝ่ายหญิง จะต้องแสดงลีลาการเต้นเดี่ยว เดิน กระโดด และหมุนไปให้ได้อย่างนุ่มนวล อ่อนพริ้ว โดยไม่มีคนช่วยพยุงได้คราวละนานๆ เรียกเสียงปรบมือสนั่นหวั่นไหว หากเป็นฝ่ายชาย ตัวเอกจะต้องกระโดดและตีขาให้ได้สูงๆ และทำติดๆ กัน หลายครั้ง อย่างนี้จะเรียกว่าเยี่ยม…บราโว่…บราโว่

บัลเล่ต์จะสามารถตรึงผู้ชมให้มีความสนใจจนจบเรื่องตลอด 3 ชั่วโมงก็เพราะลีลาการเต้นอันน่าอัศจรรย์ใจ ความสวยงามของชุดและตัวนักแสดง ฉาก ไปจนถึงดนตรีออร์เคสตร้าที่บรรเลงอย่างเข้าถึงอารมณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนจะเป็นการแสดงเรื่องใด ที่โรงละครใด ก็แล้วแต่ กำหนดการของแต่ละโรงละครที่จะสลับกันไปมา ส่วนมากเรื่องนี้ก็จะเล่นประมาณ 2-3 รอบ ในแต่ละฤดูกาล แต่ที่นิยมสุดๆ สำหรับคนที่ดูบัลเล่ต์เป็นกิจกรรมเสริมไม่ใช่ประเภทเกจิชั้นสูง และมีอันจับผลัดจับผลูได้ไปรัสเซีย ก็จะต้องขอชมเรื่อง Swan Lake หรือนางหงส์ผู้อาภัพ Nutcraker เอ..แปลว่าอะไรดี…ตุ๊กตาทหาร ? (มักจะแสดงในช่วงวันคริสต์มาส เพราะเป็นเรื่องของเด็ก) และเรื่อง Sleeping Beauty หรือเจ้าหญิงนิทราอันเลื่องชื่อ ทั้ง 3 เรื่องนี้ ประพันธ์บทเพลงประกอบโดย Pytor Illiych Tchaikovsky คีตกวีชาวรัสเซียที่รู้จักกันดี หากได้ไปรัสเซียในช่วงที่มีกำหนดการแสดงบัลเล่ต์ 3 เรื่องนี้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสไม่ควรพลาด

บอกกล่าวเรื่องบัลเล่ต์มาแบบนี้ คนในเมืองไทยอาจจะอิจฉาตาร้อนคนในรัสเซีย แต่จริงๆ สำหรับคนไทยที่อยู่ในรัสเซียก็ใช่ว่าจะโชคดีกว่าคนที่กรุงเทพฯ เสมอไป เพราะอย่างน้อยก็ไม่มีใครมีโอกาสเหมือนคนกรุงเทพฯ ที่ได้ชมบัลเล่ต์เรื่องแคทยากับเจ้าฟ้าชาย (Katya and the Prince) ที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวตำนานรักของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และแคทยาหรือ เยเคเธอริน่าเดนิสสกาย่า หญิงสาวสามัญชนคนรัสเซียเชื่อสายยูเครนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งทางคณะบัลเล่ต์ของ Kremlin Palace อันลือชื่ออีกแห่งหนึ่งของรัสเซีย ได้นำมาแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2547 และจนบัดนี้ ยังไม่มีโอกาสได้แสดงรอบปฐมทัศน์ที่กรุงมอสโกตามที่กำหนดไว้..ปล่อยให้คนไทยในมอสโกตั้งตารอคอยด้วยความผิดหวัง…

นอกจากบัลเล่ต์ก็จะมีโอเปร่าหรือละครเพลงร้อง ความจัดเจนและอารมณ์ของนักร้องที่เป็นตัวแสดงนำทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงในการร้องบทประพันธ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในระดับคีย์และเสียงขึ้นลงไปมาเอื้อนเอ่ยออกมาจากลำคอ บาดหูและบาดความรู้สึก และท่าทางการแสดงจนไปถึงแววตาที่สื่อออกมาจากบทร้องและเนื้อเรื่อง คือเสน่ห์ของการเข้าไปฟังและชมโอเปร่าที่แตกต่างไปจากบัลเล่ต์ ซึ่งแม้การแสดงโดยรวมอาจจะไม่วิจิตรตระการตาเท่าบัลเล่ต์ในสายตาของหลายคนก็ตาม แต่ความไพเราะของดนตรี บทประพันธ์ที่ชวนติดตาม และฉาก ก็ชวนให้โอเปร่าเป็นการแสดงบันเทิงอีกรายการที่ไม่ควรพลาด ตลอดเวลา 3 ชั่วโมงที่เข้าไปนั่งในโรงละครเพื่อชมโอเปร่าเรื่องใดก็ตาม จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขหากจะเข้าใจเรื่องราวและมีความลึกซึ้งเข้าใจศิลปะในการร้องเพลงประเภทนี้ แต่ในทางกลับกันอาจจะกลายเป็นเวลาแห่งความทรมาน การง่วงเหงาหาวนอนของบรรดานักท่องเที่ยวที่บังเอิญตั้งใจจะแค่โฉบเข้าไปชมเพื่อให้ได้ชื่อว่าเข้าไป เพราะว่าจะออกมาจากโรงพร้อมกับเสียงบ่นพึมพำว่า ดูอะไรไม่รู้เรื่องเลย ฉะนั้น หากต้องดูโอเปร่า ก็ขอแนะนำให้ลงทุนซื้อหนังสือเรื่องย่อที่คุณป้าพนักงานถือในมือขายอยู่หน้าโรง สนนราคาประมาณ 100 รูเบิ้ล เพื่อจะช่วยให้การชมโอเปร่าเป็นไปอย่างถึงอรรถรส เข้าใจได้ว่า กำลังจะร้องและแสดงอะไร และให้ทำใจว่าจะต้องฟังเสียงร้องโหยหวนเช่นนี้เป็นเวลานานเช่นนี้เพราะเหตุใด ที่มาที่ไปอย่างไร
บอกได้ว่าบทร้องโอเปร่าในรัสเซียไม่มีตัววิ่งภาษาอังกฤษกำกับที่เวทีเช่นในโรงละครอีกหลายแห่ง หากจะมีบ้างก็เป็นบทแปลเป็นภาษารัสเซียในกรณีที่การร้องของเรื่องนั้นเป็นภาษาอิตาเลียน ไม่มีตัวช่วยจริงๆ นอกจากเรื่องย่อที่ถือในมือเท่านั้น เรื่องที่แสดงก็จะมีทั้งของนักประพันธ์อิตาเลียน เช่น Puccini ไปจนถึงบทประพันธ์ของรัสเซียเอง เช่น Evgeny Onekin, Boris Gudonov, Queen of Spade แต่มีผู้จัดเจนโอเปร่าให้ข้อสังเกตไว้ว่า โอเปร่าของรัสเซียมักจะเป็นเรื่องและมีท่วงทำนองที่หม่นหมองและเป็นโศกนาฏกรรม ไม่สนุกรื่นเริงตื่นเต้นเร้าใจอย่างบทประพันธ์ของอิตาเลี่ยน เท่าที่ได้ไปชมมาหลายเรื่อง ก็เห็นว่าท่าจะจริง…

สำหรับรัสเซีย โดยทั่วไปทั้งการแสดงบัลเล่ต์และโอเปร่าในแต่ละโรงละครก็จะเป็นการแสดงโดยคณะที่ประจำอยู่ในแต่ละโรงละครนั้นๆ และใช้วงออร์เคสตร้าของโรงละครบรรเลงดนตรีประกอบเพียงแต่กำหนดโปรแกรมสลับไปมา บางวันเป็นบัลเล่ต์ บางวันเป็น โอเปร่า และกรุณาอย่าเข้าใจผิดว่า บัลเล่ต์จะมีแสดงเฉพาะที่โรงละครบอลชอย (Bolshoi Theatre) อันเลื่องชื่อเท่านั้น ที่จริงมีโรงละครที่มีการแสดงบัลเล่ต์มากมาย ทั้งในกรุงมอสโกเมืองหลวง ไปจนถึงเมืองใหญ่ๆ ต่างจังหวัดของรัสเซีย แม้แต่ประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต เช่น อุซเบกิสถาน ยูเครน ก็ล้วนแต่มีคณะของโรงละครตัวเอง และในเมืองหลวงของประเทศเหล่านี้ก็จะเรียกโรงละครประจำเมืองว่าบอลชอยเหมือนกัน (เพราะหมายถึงโรงละครโรงใหญ่) แต่คณะของโรงละครบอลชอยที่มอสโกมีความเก่าแก่ และฝีไม้ลายมือจัดจ้าน แถมได้เปรียบตรงที่ตัวโรงละครอันเป็นที่แสดงนั้นก็มีความอลังการใหญ่โต และตกแต่งภายในอย่างตระการตา สมกับที่มีความหมายตามชื่อว่า “โรงละครโรงใหญ่” ซึ่งโรงอื่นๆ ไม่สามารถเทียบเคียงชั้นได้ (หากจะมีคู่แข่งที่เทียบชั้นกันได้ในรัสเซีย ก็จะมีแต่ โดยเฉพาะโรงละครมาริอินสกี้ (Mariinsky Theatre หรือชื่อเก่าคือ Kirov) ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเท่านั้น ซึ่งมีความเก่าแก่ ฝีไม้ลายมือจัดจ้าน และกิตติศัพท์ชื่อเสียงเก่าแก่มานาน และตัวโรงละครเองก็มีความสวยงามตระการตาไม่แพ้ใครและโด่งดังคู่แข่งกันมากับโรงบอลชอยที่กรุงมอสโก เพียงแต่ฝ่ายหลังดังกว่าเพราะตั้งอยู่ที่เมืองหลวง ที่ใครๆ ก็ผ่านไปมา) สำหรับกรุงมอสโก รองลงมาจากคณะโรงละครบอลชอยนี้ ก็ยังมีโรงละครของพระราชวังเครมลิน (Kremlin Palace) ซึ่งยึดที่มั่นตั้งอยู่ในเขตพระราชวังเครมลิน แต่ตัวโรงนั้นเป็นอาคารแบบหอประชุมขนาดใหญ่จุผู้คนเป็นพันๆคน สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสมัชชาของพรรคคอมมิวนิสต์ ในสมัยสหภาพโซเวียต หาความคลาสสิคแบบโรงละครบอลชอยมิได้เลย และอีกคณะหนึ่งที่น่าจะรู้จักคือ คณะโรงละครสตานิสลาฟสกี้ ดามิเชนโก (Stanislav and Damichenko Musical Theatre) โรงนี้มีชื่อเสียงการแสดงบัลเล่ต์หลายเรื่องและเป็นโรงผู้เชี่ยวชาญบัลเลต์เรื่อง Swan Lake เพียงแต่โรงเล็กกว่าโรงละครบอลชอยมาก เท่านั้น

ตัวบ่งชี้ว่าจะดูการแสดงที่โรงละครใดนั้น นอกจากโปรแกรมที่มีในแต่ละวันไม่เหมือนกัน และฝีมือการแสดงแล้ว ก็คือราคาบัตรชมการแสดง ซึ่งก็ขึ้นกับแต่ละเรื่องที่จะแสดงและตำแหน่งที่นั่งด้วย ทั้งสำหรับบัลเล่ต์และโอเปร่า แน่นอนที่สุดสำหรับโรงบอลชอย ราคาก็ต้องใหญ่โตตามชื่อมากกว่าโรงอื่น บัตรชมบัลเล่ต์จะมีราคาสูงกว่าโอเปร่า โดยทั่วไปราคากำหนดไว้ประมาณ 30-50 USD แต่ถ้าเป็นเรื่อง Swan Lake อย่างน้อย 80 USD แต่หากได้ไปรัสเซียครั้งเดียว หากขอแค่ได้เข้าโรงละครบอลชอย แม้จะจ่ายแพงแสนแพงและจะดูไม่รู้เรื่องฟังไม่เข้าใจเลยตลอด 3 ชั่วโมงนั้นก็ตาม เพราะแค่เข้าไปนั่งมองดูการตกแต่งอันวิจิตรพิสดารหยดย้อยตระการตาไม่น้อยหน้าโรงละครเก่าแก่แห่งปารีส หรือมิลาน และจินตนาการถึงความรุ่งเรืองและอารยธรรมที่ถ่ายทอดสั่งสมมา ตั้งแต่สมัยโบราณ และรักษาไว้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน ก็จะให้รู้สึกอิจฉาคนรัสเซียและเกินคุ้มแล้ว
แต่ขอโทษ…พูดไปก็แค่กระตุ้นต่อมอยากให้ทำงานเท่านั้น เพราะจากนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2008 เราก็จะไม่ได้มีโอกาสเข้าไปเหยียบโรงละครบอลชอยอีก เพราะขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปิดซ่อมแซม นัยว่าเพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยขึ้น เหมือนกับโรงละครที่ได้มาตรฐานของที่อื่นๆ ฉะนั้น ไปรัสเซียครั้งต่อไปในช่วงนี้ ก็ทำใจได้ว่าต่อให้มีเงินสักเท่าใด ก็จะไม่ได้เข้าไปชมโรงบอลชอยเก่าอีกแน่นอน

เดินออกจากโรงละคร ชมนาฏลีลา คราวนี้ ก็แวะเข้าโรงดนตรี เพื่อชมคีตบรรเลงบ้างเสียหน่อย เพื่อความหลากหลายของชีวิต เพราะดนตรีกับคนรัสเซียเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เป็นส่วนหนึ่งของความสุขในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในกรุงมอสโก และเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ของรัสเซีย ต่างก็มีสถานที่แสดงดนตรีประจำเมืองเป็นเรื่องปกติ สำหรับรองรับการแสดงดนตรีคลาสสิคระดับวงออร์เคสตร้าประจำเมือง และดนตรีประเภทอื่นๆ เฉพาะในกรุงมอสโก มีสถานที่แสดงดนตรีมากมายหลายแห่ง แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ 3 แห่งใหญ่ๆ คือโรงของสถาบันการดนตรีตั้งชื่อตาม ปีเตอร์ ไชคอฟสกี้ คีตกวีชาวรัสเซียอันโด่งดังที่มีชีวิตอยู่ในราวปี ค.ศ. 1840-1893 (Conservatory named after Pytor Tchaikovsky) และอีกแห่งคือโรงคอนเสิร์ต Tchaikovsky Concert Hall (ฟังแล้วอาจสับสน เพราะอะไรๆ ก็ต้องไชคอฟสกี้) แถมท้ายด้วยโรงดนตรีที่เปิดใหม่ คือ Moscow International House of Music (อยู่รัสเซียต้องถามหา MMDD หรือ Moscovsky Musicalyny Mezhdunarodny Dom) เฉพาะสามโรงนี้ ก็มีการแสดงทุกวันให้เลือกชมกันไม่ไหว และสำหรับวงดนตรีประเภทออเครสตร้าในรัสเซียเองคาดว่าคงมีในระดับเป็นร้อยวง เฉพาะที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแสดงในโรงดนตรีทั้งสองแห่งในกรุงมอสโกก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 20 วงแล้ว และยังเมืองอื่นๆ ที่ต่างมีวงของตนเอง ดังบ้างไม่ดังบ้าง เรียกว่าดนตรีนี้อยู่ในสายเลือดจริงๆ ว่างั้นเถอะ วงดนตรีที่มีชื่อก็เช่น National Philharmonic Orchestra of Russia, Symphony Orchestra of Russia และอีกสารพัด วาทยากรและนักดนตรีชั้นนำระดับโลกก็มีมากมาย ถ้าเป็นวาทยากรหรือผู้ที่แสดงเดี่ยวระดับปรมาจารย์ ราคาบัตรชมดนตรีแบบต่ำสุดก็อาจจะสูงถึงระดับ 100 USD ในขณะที่โดยทั่วไปมีเงินในมือสัก 15 USD ก็ได้บัตรชมคอนเสิร์ตในที่นั่งดีๆ แล้วด้วยซ้ำ

นอกจากหลักๆ เหล่านี้แล้ว ยังสามารถหาชมการแสดงละคร หรือการแสดงแบบคลาสสิคแต่เวอร์ชั่นพลิกแพลง ได้ตามโรงละครอื่นๆ ที่กระจัดจาย ซ่อนตัวอยู่ตามถนนทั่วไปในกรุงมอสโกใหญ่บ้างเล็กบ้าง เพียงแต่จะไม่ค่อยพลัดหลงเข้ามาในสายตาเราเพราะ อ่านไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ได้มีไว้สำหรับคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษารัสเซียอย่างเราๆ เท่านั้นแหละ แต่ถ้าอ่านและฟังภาษารัสเซียออกบ้าง ขอรับรองว่า ใน 365 วันของชีวิตที่กรุงมอสโก จะสามารถหาชมการแสดงวัฒนธรรมเหล่านี้ได้โดยไม่ซ้ำกันอย่างชุ่มฉ่ำสำราญใจ อ้อ…จะบอกตลอด 365 วันไม่ได้สินะ เพราะว่าปกติการแสดงต่างๆ เหล่านี้ จะมีเฉพาะช่วงเดือนกันยายน-มิถุนายน เท่านั้น ในฤดูร้อน จะไม่มีการแสดงของวงรัสเซีย บรรดาคณะต่างๆ จะออกเดินสายไปแสดงในต่างประเทศ (รวมทั้งไทย) ปล่อยโรงไว้ป็นเวทีสำหรับคณะจากต่างประเทศเข้าไปแสดงให้คนรัสเซียได้ชมบ้าง..

การเข้าไปชมการแสดงในโรงต่างๆ ในรัสเซียจะมี tip อยู่อย่างที่พึงรู้ และจะได้ไม่แปลกใจ คือพฤติกรรมมั่วนิ่มประเภทไม่มีบัตรแต่เข้าไปนั่งที่ของคนอื่น แต่งตัวก็สวยแบบไปคอนเสิร์ตอย่างดี นั่งไปจนกว่าเจ้าของเขาจะมา ก็จะลุกไปแบบเงียบๆ หาที่อื่นต่อ เหมือนเห็นเป็นเรื่องปกติ จะมีให้เห็นเป็นประจำ แรกๆ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีคนไม่มีบัตรเข้ามาได้ และที่ยิ่งกว่านั้น คือ ทำไมไม่เห็นมีคนรัสเซียออกอาการโมโหเลยเวลาเจอคนนั่งที่ตัวเอง มีแต่เราๆ ที่โวยวายเวลาเจอคนอื่นมานั่งที่เรา จนตอนหลังถึงบางอ้อว่า เขามีธรรมเนียมให้ตั๋วฟรีสำหรับเข้าไปในโรงแบบไม่ระบุที่นั่งสำหรับญาติมิตรของคนที่ทำงานที่โรงละครหรือนักดนตรีที่แสดง และไปลุ้นไปหาที่เอาเองว่าจะมีที่ไหนว่างบ้าง เพราะบางการแสดงก็ไม่มีผู้ชมเต็ม และเมื่อได้เจอกับตัว คือเมื่อได้รับบัตรฟรีแบบนี้ ก็คิดว่าโชคดีได้บัตรฟรี คนให้ก็บอกว่า หาที่นั่งเอาเอง ไม่มีปัญหา ก็เข้าไปหาที่นั่งใหญ่เลย แต่สักพักก็มีแต่คนมาทวงที่ จนเสียศูนย์รู้สึกแย่มาก แล้วเลยได้รู่แล้วว่า ตั๋วที่เราได้นี่แหละคือตั๋วแบบเดียวกับที่คนอื่นชอบมานั่งที่เรารอเราทวงคืน หลังจากนั้น ก็เข้าใจความรู้สึกทันทีว่าเขาไม่ใช่คนเลวร้ายอะไรหรอก แต่มันเป็นระบบที่เขามีเป็นปกติเพื่อเอื้อเฟื้อกันและกัน คนรัสเซียเขาถึงเข้าใจกัน ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกใหญ่โตอะไร จากนั้นมาก็เลยไม่ว่ากันอีกแล้ว และหากใครไปเจอแบบนี้ ก็อย่าไปว่าเขาเลยนะ…

เมื่อได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับรัสเซียในด้านการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ ยังอยากบอกว่าไม่เคยมีภาพว่าแท้จริงแล้วในรัสเซียจะยังมีมากยิ่งกว่าเท่าที่เคยได้ยินมา และเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ที่สำคัญนี่คือความสุขที่คนในทุกชั้นทุกระดับรู้สึกสัมผัสได้ เข้าถึงได้และเข้าถึงอย่างซาบซึ้งด้วยจิตวิญญาณ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเฉพาะของคนชั้นสูง หรือเฉพาะคนที่มีการศึกษา (เช่นในหลายๆ ประเทศ) การที่วัฒนธรรมคลาสสิคอันเป็นศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ ปลูกฝัง และถ่ายทอดรักษาเช่นนี้ยังคงปรากฏในรัสเซียสืบเนื่องมาหลายร้อยปี เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ได้อย่างดีว่า คนรัสเซียนั้นได้รับการปลูกฝังทางการศึกษาและมีความลึกซึ้งทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม และศิลปวิทยาการ ไม่น้อยหน้าชาวยุโรปชาติใด และไม่ว่าจะอย่างไร รัฐบาลรัสเซียในสมัยสหภาพโซเวียตก็ได้ให้โอกาส และตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกฝังความเข้าใจและความรู้ทางดนตรีแก่คนรัสเซีย อย่างน้อยในวัยเยาว์เกือบทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ทฤษฎีและฝึกการเล่นดนตรี และมีโอกาสได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ หากเป็นคนที่มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี และที่สำคัญในสมัยนั้นการเป็นนักดนตรีถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีเกียรติและได้รับค่าตอบแทนอย่างสูง ดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมรัสเซียที่สืบตกทอดมาในสายเลือด ไม่ว่าจะมีฐานะมากน้อยปานใด

ความซาบซึ้งทางดนตรีดังกล่าวนี้สามารถสัมผัสได้จากการที่ทุกครั้งที่ได้เข้าไปในโรงละครหรือโรงดนตรี มองไปรอบๆ ข้างตัวที่มีคนรัสเซียรายรอบ (ยกเว้นโรงบอลชอย) จะมองเห็นสิ่งหนึ่งที่ฉายโชนออกมาเหมือนกันคือแววตาและใบหน้าแห่งความดื่มด่ำอิ่มเอมกับการแสดงที่อยู่เบื้องหน้าของตน….ทุกคนไปชมไปฟังด้วยหัวใจด้วยความสุขที่ไม่ต่างกัน จนนึกได้ว่าอดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำรัสเซียคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า คนรัสเซียอาจจะผ่านความทุกข์ความขมขื่นมายาวนาน มีความยากดีมีจนต่างกัน จนทำให้บุคลิกภาพประจำชาติออกมาในลักษณะกระด้างและเฉยชา แต่หากได้เข้าไปนั่งในโรงละครหรือดนตรี จะได้เห็นประกายตาที่ฉายโชนความอ่อนโยนนุ่มนวลที่เปี่ยมล้นแสดงผ่านออกมาอย่างตรงข้ามกับภาพลักษณ์คนรัสเซียที่เราๆ คุ้นเคยโดยสิ้นเชิง …นี่คือคนรัสเซียในอีกบุคลิกภาพหนึ่ง…ที่ไม่เห็นจะนึกไม่ออกจริงๆ
แต่…ความอ่อนโยน ความซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงเหล่านี้แม้จะมีจริง และเห็นด้วยอย่างเต็มหัวใจว่าคนรัสเซียเป็นเช่นนี้จริงๆ แต่ความจริงที่ปรากฏทันทีหลังการแสดงสิ้นสุดลง เสียงร้องตะโกน Bravo!! Bravo!! พร้อมเสียงตบมือสั่นหวั่นไหวรอบแล้วรอบเล่าจางหายไป เราก็จะได้เห็นภาพผู้คนเป็นพันๆ ทะลักล้นออกมาวุ่นวายตรงห้องโถงทางเดิน เพื่อเอาเสื้อโค้ตและทรัพย์สินส่วนตัว (โดยเฉพาะในหน้าหนาว) ที่เคาน์เตอร์ที่ป้าๆ พนักงานต่างรอรับบัตรหมายเลขกุลีกุจอไปหยิบให้ สับสนอลหม่าน บางทีแน่นจนไม่รู้ว่าคิวไหนเป็นคิวไหน มือไหนเป็นมือไหน และรายการลัดคิวที่มั่วนิ่มมาจากไหน ประเภทให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวยืนต่อแถวอยู่คนเดียว สักพักโผล่มาจากไหนอีสามสี่คน ช่างเป็นความโกลาหลเบียดเสียดที่ก็ต้องนับได้ว่าก็น่าจะถือเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งร่วมกับการชมคอนเสิร์คของชาวรัสเซีย และสามารถทำให้เราลืมความสุขความสงบที่เพิ่งดื่มด่ำมาในชั่วนาทีก่อนหน้านั้นไปได้อย่างสนิทใจ…ลืมไปเลยว่าเมื่อกี๊ไปอยู่ในที่ไหนมา สิ่งที่เห็นตรงหน้าช่างต่างกันโดยสิ้นเชิง…นี่แหละโรงละครโรงใหญ่ และบางทีวัฒนธรรมของคนรัสเซียอาจจะสูงส่งและซับซ้อนเกินไปจนไม่สามารถคาดเดาและมีข้อสรุปอย่างมั่นใจได้เลยก็เป็นได้ และอาจจะเป็นวัฒนธรรม…Kultura…ที่แท้จริงก็ได้…ใครจะรู้!!!

และสำหรับรัสเซียในวันที่กระแสความเป็นสมัยใหม่กำลังหลั่งไหลท่วมบ้าน่วมเมือง วัฒนธรรมการฟังดนตรีคลาสสิคอาจจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยังฝังรากลึกในความเป็นรัสเซีย แม้ว่ากระแสดนตรีสมัยใหม่จะเป็นที่นิยมทั่วบ้านทั่วเมืองมากขึ้น คอนเสิร์ตนักร้องดังๆ จากทุกภูมิภาคไปเปิดการแสดงในกรุงมอสโกให้เห็นอยู่ดาษดื่น แต่คณะแสดงนาฏลีลาทั้งหลายและวงดนตรีคลาสสิคของรัสเซียก็ยังคงสืบสายได้รับความนิยมทัดเทียมดนตรีสมัยใหม่ได้อย่างไม่แพ้กัน สายลมอาจพัดพาความทันสมัยฉาบฉวยมาให้สัมผัสทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ความคลาสสิคก็ยังคงเป็นสิ่งคลาสสิคคู่กับคนรัสเซียอย่างที่คงอีกนานนักกว่าจะผันแปรไป

ทิป : การจะไปชมการแสดงบันเทิงคลาสสิคในกรุงมอสโก
  1. สามารถซื้อบัตรได้ที่เคาน์เตอร์ขายบัตรหน้าโรง และจำหน่ายบัตรก่อนล่วงหน้า ปัจจุบันมีบริการซื้อบัตรทางอินเตอร์เน็ต และบริการส่งบัตรถึงที่อยู่ผู้ซื้อ แต่โดยปกติผู้คนจะยังนิยมไปซื้อที่โรง สำหรับการแสดงทุกรูปแบบที่โรงละครบอลชอยควรซื้อบัตรไว้แต่ล่วงหน้า หาไม่จะเสี่ยงต่อความผิดหวัง หรือทำใจซื้อตั๋วผีหน้าที่ขายตั๋ว (เหมือนเมืองไทยเป๊ะ) สนนราคาสามารถอั๊พจากราคาจริงไม่ต่ำว่า 3 เท่า เช่นครั้งหนึ่งเคยซื้อบัตรให้เพื่อนซึ่งเดินทางไปมอสโกแบบไม่ยอมตัดสินใจว่าจะดูละครที่บอลชอยหรือไม่ จนไปถึงก็บอกว่าอยากดู ช่วยหาตั๋วหน่อยสิ นั่นแหละ อย่างที่คิดไว้ตั๋วถูกขายไปหมดแล้ว และต้องใช้บริการตั๋วผี จากราคาแค่ 800 รูเบิ้ล กลายเป็นจ่ายไป 2500 รูเบิ้ล และนั่งสูงถึงชั้น 4 นี่ขนาดไม่ใช่เรื่อง Swan Lake นะเนี่ย
  2. หากไปซื้อบัตรด้วยตนเองทำใจได้ว่าจะต้องสื่อสารด้วยภาษารัสเซียเป็นหลัก และเสี่ยงต่อการโมโหที่พูดกับคนขายไม่รู้เรื่อง
  3. ควรไปที่สถานที่ล่วงหน้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพราะทุกที่จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทั้ง x-ray กระเป๋าและเปิดประตูทางเข้าเพียง 1 หรือ 2 จุด คิวจะยาวจนล้น (เหตุเกิดมาจากการป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกรณีการจับตัวประกันที่โรงละคร ขณะที่กำลังแสดงละครเรื่อง Nord-Ost เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2545)
  4. ในฤดูหนาว ควรเผื่อเวลาสำหรับการฝากเสื้อโค้ต และการปีนขึ้นลงบันไดของโรงละครแต่ละแห่ง ซึ่งไม่มีลิฟท์ บันไดล้วนๆ 3-4 ชั้น เป็นเรื่องธรรมดา และควรจะทิปคุณป้าตอบแทนน้ำใจและความกุลีกุจอช่วยหยิบเสื้อโค้ตให้เมื่อเวลารับกลับ ปกติ 10 รูเบิ้ล ต่อ 1 ตัว และบางทีหากชูเงินทิปไว้ในมือดีๆ ให้ป้าเห็น อาจจะได้อานิสงส์ได้เสื้อโค้ตแบบลัดคิวเร็วขึ้น (เรื่องจริงเกิดขึ้นมาแล้ว เวลาชุลมุน) อันนี้อาศัยครูพักลักจำมาจากเวลาเห็นผู้ที่มีบุคลิกแบบมาเฟียมีเงินมารับเสื้อ ดูแล้ว work มาก เวลาไม่รู้มือใครเป็นมือใคร
  5. เวลาพักระหว่างการแสดงประมาณ 15 นาที จะมีการขายเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และไม่ใช่แอลกอฮอล์ รวมไปถึงของว่างประเภทคานาเป้ หรือไอศกรีม แต่คิวจะยาวจนล้นหลาม ดังนั้นหากใครความอดทนต่ำ หรือท้องใจเสาะ ควรทานอาหารรองท้องก่อนไปชมการแสดง และ อ๊ะแฮ่ม…จังหวะพักนี้ คือเวลาที่จะได้อวดโฉมความงามและการแต่งตัวกันอย่างเต็มที่ ฉะนั้น หลังจากเมื่อยสายกับการแสดงบนเวที ก็มาดูการแสดงรอบของจริงหน่อยเป็นไร
  6. การแต่งกาย เป็นคำถามยอดฮิตเวลาคนไทยไปชมการแสดงที่มอสโก ขอบอกว่า หากอยากสวยเริ่ดหล่อหรูดูเท่ห์แค่ไหน ก็สามารถประชันได้เต็มที่ แต่หากอยากแต่งตัวแบบธรรมดาเรียบง่าย ไม่ต้องใส่เสื้อนอกผูกเน็คไท ก็สามารถไปได้โดยไม่ต้องเคอะเขินเช่นกัน ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่ขอแค่ว่าให้มันไปกันได้ทิศทางเดียวกันกับคนที่เราไปด้วย หรืออย่าถึงขั้นกางเกงยีนส์ก็คงพอไหว แต่สำหรับคนรัสเซียส่วนมากแล้ว การแต่งตัวแบบดูดีไปคอนเสิร์ต ก็ยังเป็นความสุขเล็กของเขาอยู่..

เรื่องโดย: ภัทรัตน์ หงษ์ทอง
http://th.thaiembassymoscow.com



ชีวิตหลังคาเฟ่…

เมื่อก่อนเคยได้ยินแค่คนเปรียบเทียบชีวิตชาวรัสเซียไว้ว่าเป็น “ชีวิตหลังม่านเหล็ก” ก็ชวนให้คิดไปว่าน่าจะหมายถึงชีวิตในช่วงที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต ชีวิตที่ไร้สีสัน และความบันเทิง ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และทางเลือก ไร้โอกาสแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก อะไรก็ตามแต่ จนเมื่อได้ไปกินอยู่ในประเทศนี้ จึงได้ประจักษ์กับตนเองแล้วว่า ม่านเหล็กที่เคยกั้นสหภาพโซเวียตเอาไว้ก่อนที่ระบบทุนนิยมจะสยายปีกนำพาความทันสมัยมาสู่รัสเซียนั้น แทบจะไม่เหลือร่องรอยอีกแล้ว แม้จะมีเค้าอยู่บ้างแต่ก็จวนเจียนจะหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของคนที่อาศัยในมหานครมอสโก หากวันนี้จะบอกว่าชีวิตคนในเมืองหลวงแห่งนี้เป็น “ชีวิตหลังคาเฟ่” อาจจะดูตรงกับภาพที่ได้เห็นและสัมผัสมามากกว่า

จะแปลกใจไหมหากจะบอกว่ามอสโกเป็นอีกเมืองหนึ่งของโลกที่ไม่เคยหลับ หากกรุงเทพฯ รถติดตอนตี 1 ที่มอสโกก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน บางย่านบางถนนรถติดหนาแน่ตอนตี 1 ตี 2 ก็มีกับเขาเช่นกัน ชีวิตยามหลังเลิกงานของคนเมืองที่นี่มองดูไปก็ไม่ต่างจากเมืองหลวงใหญ่ๆ ทั้งหลาย มีทางเลือกสารพัด ไปทางไหนก็มีแต่ร้านอาหาร ร้านดื่ม ร้านกาแฟ ดิสโก้เธค Pub Club บาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาสิโนหรือง่ายกว่านั้นคือพวกตู้เกมส์นี่เต็มไปหมดทุกหนแห่ง คึกคัก สว่างไสว ตามถนนใหญ่หรือตรอกซอย ทั้งที่ราคาที่พอรับไหวไปจนราคาแพงหูฉี่ บรรยากาศการตกแต่งสุดเริ่ด ไปจนแบบธรรมดา ผู้คนที่เข้าออกคึกคัก และที่แน่มากคือมีไม่น้อยที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง จนบางทีรู้สึกอัศจรรย์ในว่านี่หรือรัสเซียที่คนเขาหาว่าเป็นเมืองหลังม่านเหล็ก ว่าแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปแวะเวียนสำรวจความจริง (เสียหน่อย)

ย่านแรกที่พวกเราต้องไปสำรวจ แน่นอน กลางเมืองย่านใกล้กับ Red Square ที่นี่ชุมนุมด้วยร้านกินและดื่ม และฟังเพลงมากมาย ขึ้นจากรถไฟใต้ดินมาบนถนนก็จะหาร้านโน้นร้านนี้ได้ไม่ยาก เพราะแถวนี้มีทั้งโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว โรงละคร ร้านรวงมากมาย และอยู่ใจกลางเมือง ไปมาสะดวก ถนนสายที่มีร้านอาหารและเป็นที่นิยมมาปลดปล่อยของคนเมืองนี้ คือ ถนน Tverskaya หรือ อีกถนนหนึ่งคือ Bolshaya Dmitrovskaya ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกัน ข้างๆ โรงละคร Bolshoi หรือย่านใกล้เคียงกับละแวกนั้น แต่ละร้านก็มีจุดขายของตนที่ต่างกันไป จะเป็นแบบหรูเริ่ดอลังการ หรือเรียบง่ายแต่โก้ หรือถูกแต่มันส์ หรือจะแค่นั่งจิบกาแฟในบรรยากาศ อะไรประมาณนี้ หากได้ไปมอสโก และเป็นนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ก็ขอให้ลองไปย่านนี้ เดินไปก็เจอร้านมากมายไปหมด เลือกเอาเองว่าจะเอาอารมณ์ประมาณไหน สัญชาติอะไร รัสเซีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน สารพัด ร้านในย่านนี้ที่พวกเรานิยมไปทานกันก็มี เช่น Café de Artist, Yama, Piroki และร้านที่อยู่ในใจตลอดเวลานึกอะไรไม่ออกว่าจะไปไหนหลังอาหาร คือ Café Coffee Bean สาขาถนน Tverskaya (ไม่ใช่สาขาจากประเทศไทยนะ) ที่นี่หากเข้าไป จะไม่น่าเชื่อว่าเป็นแค่ร้านขายเครื่องดื่มและกาแฟหลากชนิดธรรมดาๆ เพราะเมื่อแหงนหน้ามองเพดาน มองไปรอบๆ จะเห็นลวดลายตกแต่งวิจิตรหยดย้อย แถมโคมไฟระย้าแพรวพราว ได้อารมณ์คุ้มค่ากับที่ต้องเข้าแถวรอซื้อกาแฟนานาชาติในราคาเกือบ 200 บาท!! และที่ชอบไปมากก็เพราะว่าที่นี่มี คาเฟ่ ปาไทยสกี้ หรือ Café Pa Thaiski แปลง่ายๆ คือกาแฟไทย กาแฟร้อน ใส่นมข้นหวานและน้ำตาลนั่นเลย!!!

นอกจากย่านใจกลางติดกับ Red Square นี้แล้ว ยังมีอีกหลายย่านที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและคลับบาร์ เช่น ย่านถนนเลียบแม่น้ำมอสโก ชื่นชมกับบรรยากาศริมน้ำ อย่างเช่น Café Maison ที่แพงดหลือใจ ไปจนถึงแถวถนน 1905 Goda มีร้านอาหารเท่ห์ๆ ดูดี รสอร่อยเรียงรายเป็นแนว โดยเฉพาะร้าน Boshka ที่ราคาแพงจับจิต หรือแถวถนน Boulevard Ring ซึ่งเป็นเหมือนวงแหวนโอบล้อม Kremlin หากขับรถวนถนนสายนี้ ก็อาจจะตาลายเพราะมีอีกแสนล้านเจ็ดร้านมากมายให้เลือก และอาจจะเจอภาวะรถติดอย่างมากหากเกิดต้องขับผ่านร้านที่บรรดาพวก “อีลิท” นิยมไปประชันกัน อย่างเช่น Galleria, Café Pushkin, Vogue Cafe หรือสถานที่ให้ที่เต้นระบำฟังเพลงอย่าง Karma Bar หรือ News Pub

เวลาไปย่านกินดื่มเต้นระบำที่เด็ดๆ แบบนี้จะสังเกตร้านได้ไม่ยากเพราะเวลายิ่งดึกผู้คนก็จะออกมาออกันเต็มข้างนอกริมถนน เพื่อรอโต๊ะนั่ง เห็นแล้วรู้เลยร้านนี้เจ๋งแน่ๆ คนที่แต่งตัวมาก็สุดๆ ดูแล้วไม่มีใครยอมใครสักคน แต่ก็อาจต้องถอดใจหากอยากลองเพราะต้องไปเข้าคิวรอ และหลายแห่งคุณอาจจะต้องกินแห้ว อุตส่าห์เข้าคิวรอตั้งนาน พอมาถึงเราบอกว่าเข้าไม่ได้ หากคุณไม่ใช่สมาชิกของที่นั่น (อ้าว…ก็ใครจะไปรู้ล่ะ อ่านภาษาก็ไม่เข้าใจ พูดก็ฟังไม่รู้เรื่อง) ที่แย่กว่านั้นคือหลายแห่งยังใช้ระบบที่เรียกว่า Face Control แปลตามตัวเลยก็ขอดูหน้าหน่อยหนึ่ง หากถูกใจ หน้าไม่ดูเป็นโจรก็เชิญเข้าไป หากสบตาแล้วไม่ต้องกัน ก็เชิญไปไกลๆ ไม่มีการอธิบายสาเหตุ ชวนให้หงุดหงิดเสียความรู้สึกมากๆ ประมาณว่าเห็นเราเป็นอะไรเนี่ย จนครั้งหนึ่ง ตั้งใจจะไปดื่มกับเพื่อนนักการทูตต่างชาติที่คลับแห่งหนึ่งใหญ่บึ้มประมาณ Entertainment Complex คนมหาศาลเบียดเสียดออรอเข้าประตูสถานมหาอัครบันเทิงแห่งนั้น จนมาถึงเรา การ์ดในชุดดำก็เพ่งดูหน้าเรา และก็ส่งสัญญาณมือให้เข้าไปได้ แต่พอมาถึงเพื่อนเรา ยืนตัวติดกันแท้ๆ หนอย..บอกไม่ให้เข้า จนเพื่อนต้องตะโกนชูบัตรประจำตัวว่า Hey!!! I’m Diplomat หรือนักการทูต นั่นแหละถึงได้ยอมให้เข้าไป แต่ขอโทษ เราเลยเดินออกมาด้วยความเซ็งสุดขีด และที่ยิ่งเจ็บใจคือหากเวลาต้องไปสถานที่ที่อีลิทนิยมไปกันแบบนี้ (ที่ไปก็เพราะแอบคิดว่าเราก็เป็น ”อีลิท” กับเขาเหมือนกัน) พวกเรามักจะถูกมองเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสองจากบรรดาพนักงานที่คอยโบกรถหรือดูแลเวลาเข้าร้าน เพราะว่าไม่ได้ขับรถเบนซ์สีดำ ไม่ได้มีบอดี้การ์ด ไม่ได้แต่งตัวแบบสุดฤทธิ์สุดเดช…สารพัด ฉะนั้น หากไม่มั่นใจ ไม่จำเป็นก็อยากไปที่เริ่ดหรูแบบนี้ในมอสโกโดยเด็ดขาด..หรือไปแล้วก็แค่หนเดียวพอ แค่ให้รู้…เพราะเ ราจะรู้ว่าที่ไปคิดว่าคนรัสเซียมีแต่เชยหรือโบราณนั่นน่ะ มันไม่จริงสักนิด ไอ้ที่รวยอย่าง Roman Abramovich เจ้าพ่อของเชลซี น่ะ มีอีกเพียบ!!!!

ด้วยประสบการณ์สารพัดที่เจอมา สำรวจมานักต่อนัก หมดตัวไปก็หลาย พวกเราเลยมาลงเอยชอบร้านประเภทคาเฟ่ ที่มีทั้งอาหาร และฟังเพลงสบายๆ เจ๊าะแจ๊ะ ปลดปล่อยอารณ์แบบเรียบๆ ง่ายๆ แต่ดูดีมีเทสต์ และที่สำคัญกระเป๋าไม่ฉีก ซึ่งจากผลการทำประชามติร้านที่พวกเรานิยมไปกันเอง โดยไม่มีคำว่าหน้าที่มากำกับ โดยใช้หลักเกณฑ์จากลิ้นของเราและกระเป๋าของเรากับอารมณ์แบบสุนทรีอย่างเราๆ พวกเราก็ได้ทำรายชื่อร้านยอดฮิต (ของพวกเรา) ที่มิชลินไม่ได้ให้ไว้ เลือกมาเด็ดๆ เพื่อเป็นข้อมูลแก้ผู้ที่อยากไปทดลองใช้ชีวิตอิสระชนในรัสเซีย คือ

  1. Café Pushkin ใกล้กับจัตุรัส Pushkin ที่นี่แม้จะดูหยิ่งๆ นิดๆ แต่เวลานึกอะไรไม่ออก ก็ไปนี่แหละ บริการสุดยอด อาหารใช้ได้ และบรรยากาศเยี่ยม ที่สุดๆ คือ เปิด 24 ชั่วโมง และมีของหวานที่อร่อยมากๆๆๆๆ และขอให้ลองช๊อคโกลีตร้อนของที่นี่ เขาจะมาชงให้ดูต่อหน้า คลาสสิคสุดๆๆๆ แต่ราคา 4 ดาวนะจะบอกให้
  2. Café Couvoirsier ร้านนี้เล็กๆ แค่ 2 คูหา ชั้นเดียว อยู่บนถนนวงแหวน Garden Ring ใกล้สถานีรถไฟ Sukharevskaya มองเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่ขอโทษ คนแน่นตลอด ไม่จองไม่ได้นั่ง และทรมานสุดๆ หากเป็นเวลาหน้าหนาวแล้วไปถึงร้านนี้ไม่มีโต๊ะ และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องร้องเพลงรอ ใส่โค้ต ขาสั่นอยู่ข้างนอก ร้านนี้จุดเด่นคือบรรยากาศแน่นๆ แบบสบายๆ กันเองแต่มีคลาสนิดๆ ที่สำคัญคือ สาวๆ ที่ไปร้านนี้ เด้งทุกคน เลยยิ่งทำให้บรรยากาศ (สำหรับคุณหนุ่มๆ ทั้งหลาย) น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก
  3. Yolki Palki ที่นี่ไม่ได้เป็นร้านแบบ Café แต่ก็ขอให้ดาวไว้เพราะเป็นที่ซึ่งใครอยากรู้จักอาหารรวมทั้งเครื่องดื่มรัสเซียต้องไป เพราะว่ามีให้เลือกและลองอย่างครบเครื่อง และที่สำคัญราคาไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับคุณภาพอาหารและบรรยากาศอารมณ์บ้านรัสเซียตามชนบท แต่ร้านนี้เปิดไม่ดึก แค่ 4 ทุ่มเท่านั้นเอง
  4.  Boar House ชื่อร้านหมายถึงหมูป่า ซึ่งก็ได้บรรยากาศดุเดือดสมชื่อ ด้วยดนตรีที่ดังสนั่นเร้าใจชวนให้ออกไปวาดลวดลายนั่งไม่ติด และคนที่เนืองแน่นเบียดเสียด ยิ่งดึกยิ่งแออัด แต่ก็แปลกที่คนก็ชอบไปถูกอัดกันเสียด้วย แสดงว่าต้องมีอะไรดี สำหรับชาวเรา ของดีที่นี่คืออาหารอเมริกันแบบจานเบ้อเริ่มเทิ่ม อย่าง Ribs eyes และขาดไม่ได้คือ Buffalo Wings ปีกไก่ทอดที่ทุกคนยกนิ้วให้ว่าอร่อยที่สุดในมอสโก ที่นี่เราจะนิยมไปมากในเวลาที่ต้องไป entertain กับคนที่ไม่ไม่มีเรื่องจะคุยด้วยมากมายนัก เพราะคุยกันยังไงก็แทบไม่ได้ยิน ฮ่าฮ่า
  5. Tinkoff ร้านนี้มาในสไตล์โรงเบียร์ขนาดใหญ่โตมหึมา ตึก 2 ชั้น ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานทูตอังกฤษ ริมแม่น้ำมอสโก ร้านมีชื่อเหมือนเบียร์เยอรมัน แต่จริงๆ แล้วเป็นของหนุ่มรัสเซียที่ประสบความสำเร็จผลิตเบียร์ของตนเองภายใต้แบรนด์ Tinkoff จนดัง ขายดิบขายดี หนังสือสัมภาษณ์เพียบ ที่ร้านนี้ จะได้ดื่มเบียร์สดจากโรงกลั่นขนาดเล็กภายในร้าน และอย่าลืมสั่งไส้กรอกขนาดยาวเป็นเมตร เสิร์ฟมาในรางไม้ อร่อยสุดๆ ไปแล้วห้ามพลาด
  6. Café Magarita ร้านนี้ รับรองบอกไปหาไม่เจอ เพราะสำหรับเรายังหาอยู่นาน ขับรถวนแล้ววนอีก เพราะเขาไม่ง้อใคร เขาเป็นร้านไม้เล็ก ขนาดจุคนได้ไม่เกิน 70 คน มีไม่กี่โต๊ะเท่านั้น กวาดตามองหากันจนทั่ว แต่ร้านเล็กๆ อย่างนี้กลับแน่นคราคร่ำด้วยผู้คนแบบศิลปินทุกวัน เพราะอาหารแสนอร่อยแบบรัสเซียที่สดและสะอาด และที่เด่นชัดคือบรรยากาศดนตรีสดบรรเลงโดยไวโอลินและเปียโน เปล่า …ไม่ได้เป็นเพลงรักหวานซึ้งโหยหา แต่กลับเล่นในทำนองสุดกระฉับกระเฉงทั้ง folk ทั้ง Jazz และสุดคึกคักเมามันสำหรับแขกคือการได้มีส่วนร่วมกับแต่ละเพลงด้วยการเคาะเขย่าขวดน้ำอัดลมพลาสิคบรรจุด้วยทรายซึ่งเขาจะมีวางไว้ให้บนโต๊ะเขย่าไปมาให้ได้ยินเสียงสั่นซ่าเวลาโขยกกระเป๋องในมือไปมา …เผลอๆ บางที เช่นที่เคยเจอ จะมีนักร้องกิตติมศักดิ์มาในคราบของแขกที่มาทานแล้วลุกขึ้นดวลเพลงกันสดๆ เสียงทุ้มกังวาน สะกดแขกทุกคนในตะลึงและอิ่มเอมไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข ก็คงไม่น่าแปลกใจที่ร้านนี้อยู่มาได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงทุนตกแต่งร้านอะไรเลยไม่เหมือนร้านอื่นๆ ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดทุกวัน
  7. Sunset Bourgeosie หากอยากเจอคนรัสเซียวัยเริ่มทำงานมาสุมหัว ก็ต้องมาที่นี่ บนถนน Sretenka ร้านนี้เราเรียกนิคเนมว่าท่าพระอาทิตย์ เพราะ logo เป็นรูปดวงอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง ขับรถผ่านหรือเดินหาไม่มีทางหาเจอ เพราะว่าชื่อยาวเกินกว่าจะอ่านทัน เห็นแต่ดวงอาทิตย์แทน ไม่จองไปก่อน อาจต้องเข้าคิวยาวอีกเช่นกัน เพราะสุดฮิต เปิด 24 ชั่วโมง และราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่แพง และบรรยากาศค่อนข้างจะง่ายๆ ไม่ถือสา แต่ดูออกอารมณ์ศิลปินแบบ fusion หน่อยๆ
เกริ่นมาแค่ 7 แห่งก่อนก็พอ เข้าข่าย 7 สิ่งมหัศจรรย์ มากกว่านี้ เดี๋ยวไม่ตื่นเต้น

ใครอ่านถึงตอนนี้ อาจจะรู้สึกเร้าใจ และอยากรู้ว่ามอสโกเป็นเช่นนี้จริงๆ หรือ นี่คือชีวิตหลังตะวันตกดิน ยิ่งวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ของคนมอสโก แต่กระนั้น สถานที่บันเทิงเริงรมย์ ร้านอาหารมากมายที่ผุดขึ้นมาจนจำและไปลองแทบไม่ไหวอย่างนี้ ก็มีขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการและกำลังซื้อของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นจากประชากรกว่า 12 ล้านคนในมอสโก แต่ในความเป็นจริง คงมีคนอีกมากมายในเมืองหลวงนี้ อาจจะมากกว่า 80% ที่ไม่มีวันที่ควักกระเป๋าจ่ายการทานข้าวนอกบ้านเช่นนี้ได้เลย และมีอีกไม่น้อยที่จะเลือกออกมาใช้ชีวิตเช่นนี้เฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น และอีกหลายคนที่ยังคงยังชีพด้วยการคุ้ยหาเศษขยะตามที่พัก อพาร์ตเมนต์ต่างๆ มอสโกจึงเป็นเมืองหลวงที่ช่องว่างของชีวิตคนนั้นยังหาตรงกลางที่จะพามาบรรจบกันได้ยากเต็มที
สำหรับเรา…อยู่เมืองใหญ่เช่นมอสโก ใช้เงินซื้อความสุขของการที่ต้องไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง ซื้อโอกาสการได้รู้จักเพื่อนฝูง และด้วยหน้าที่ซึ่งจำต้องทำความรู้จักแหล่งบันเทิง แหล่งกินแหล่งเที่ยว สนุกสนานกับทางเลือกของชีวิตแบบชาวเมืองเฉกเช่นเมืองหลวงใหญ่ๆ ของโลกมานาน แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ได้ไปต่างจังหวัดของรัสเซีย ไม่ต้องไปไหนไกล เพียงไม่เกิน 60 กิโลเมตรจากเมืองหลวง ก็จะพบชีวิตที่เรียบง่าย มีที่กินที่เที่ยวอยู่ไม่กี่แห่ง และที่มีอยู่นั้นก็ไม่ได้มีอะไรทัดเทียมกับที่ดื่มที่ฟังเพลงที่แสนธรรมดาที่สุดในมอสโกเลย แต่ผู้คนกลับดูมีความสุขความพอใจกับชีวิตที่มีอยู่เพียงนั้น เย็นลงก็กลับบ้าน นั่งคุยกับครอบครัวเพื่อนบ้าน แม้ลึกๆ อาจจะมีความปรารถนาความทันสมัยศิวิไลซ์เช่นกัน แต่ก็ดูเหมือนรากฐานของค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง และรายได้อันจำกัดก็จะหยั่งรากลึกพอที่จะยึดเหนี่ยวคนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดไว้ได้เป็นอย่างดี เมื่อกลับมามอสโก และได้หวนคิดถึงวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบต่างจังหวัด ก็จะรู้สึกถึงการ ลด ละ เลิก ปรับลดการเที่ยวเตร่สรรหาที่กินนอกบ้าน มาเป็นใช้ชีวิตแบบพอเพียงไปได้สักระยะหนึ่ง แต่แหม… มันก็ไม่เคยเกินอาทิตย์เดียว ขาก็สั่นต้องออกไปแสวงหาอีกแล้ว…ก็เหนือจากยึดมั่นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว คนอย่างเราๆ ก็ยังมีความเชื่อมั่นในหลักการว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุดมิใช่เหรอ ฉะนั้น ก็ลุยต่อไปเพราะโอกาสได้มาใช้ชีวิตในมอสโกยามที่มีที่กินที่เที่ยวแปลกใหม่โผล่มาทุกวันให้ตื่นเต้นลิ้มลองจนแทบไม่เคยซ้ำกันเช่นนี้คงไม่มีอีกแล้ว ว่าแล้ว ก็ขอไปกิน Oreo Milkshake ที่ Starlite Diners ก่อนนะ เอิ๊ก เอิ๊ก!!!…

เรื่อง: ภัทรัตน์ หงษ์ทอง
http://th.thaiembassymoscow.com/articles/?section=s4&artid=18

บอร์ชแบบคลาสสิค ( Классический борщ )

ซุปบอร์ส
ซุปบอร์ส
…ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า สูตรการทำซุปบอร์ชนั้นมีมากมายเสียเหลือเกิน วันนี้ขอนำเสนอสูตรแบบคลาสสิคให้เพื่อนๆ แฟนเพจชาวสามารถเอาไปลองทำได้ที่บ้าน แอดมินได้สูตรนี้มาจากเวปรัสเซียอีกที ซึ่งชาวรัสเซียเค้าก็บอกว่าเป็นหนึ่งในสูตรที่อร่อยไม่แพ้ใครเลยล่ะ มาเริ่มกันเลยดีกว่า…..
วัตถุดิบและเครื่องปรุง
1. น้ำเปล่า หรือ น้ำต้มกระดูกเนื้อสัตว 1.5-2 ลิตร (ในกรณีที่ไม่ทานเนื้อสัตว์สามารถใช้น้ำเปล่าแทนได้)
2. บีทรูทขนาดกลาง 3-4 หัว
3. กะหล่ำปลี 250 กรัม
4. แครอทขนาดกลาง 1 หัว
5. หอมใหญ่ขนาดกลาง 1 ลูก
6. ไขมันสัตว หรือ น้ำมันสำหรับผัด
7. เกลือ พริกไทยดำ ตามแต่ชอบ
8. น้ำส้มสายชู ผักโรยหน้าซุปแล้วแต่ชอบ
9. กระเทียม 2 กลีบ (ถ้าไม่ชอบไม่ต้องใส่)
วิธีทำ
1. ต้มน้ำกระดูกโดยใช้กระดูกวัว หรือหมู หรือจะใช้เพียงแค่น้ำร้อนต้มเดือดก็ได้ (ในกรณีที่ไม่ทานเนื้อสัตว์)
2. นำกระทะใส่น้ำมันหรือไขมันสัตว์และตั้งไฟให้ร้อน
3. จากนั้นใส่หอมใหญ่ที่สับละเอียดดีแล้วลงไป เติมแครอทขูด บีทรูทขูดฝอย เหยาะน้ำส้มสายชูลงไป จากนั้นปิดฝาและปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งแครอทและบีทรูทนิ่ม
4. ในน้ำต้มกระดูกให้เติมกะหล่ำปลีหั่นเรียบร้อยแล้วลงไป และปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที
5. จากนั้นเติม เครื่องที่ผัดไว้แล้วในข้อ 3 ( แครอท หอมใหญ่ และบีทรูทที่ผัดไว้แล้ว) ลงไปในซุป ปล่อยทิ้งไว้ให้เดือด ลดไฟลง และตั้งไฟต่อไปอีกประมาณ 5-10 นาที
6. ก่อนยกลงจากเตา เติมพริกไทย เกลือ ตามแต่ชอบ หรือเติมกระเทียมสับลงไป
7. ยกเสริฟพร้อมกับโรยหน้าด้วยผักแต่งหน้า เช่น ต้นหอม ผักชีต่างๆ แล้วเติมครีมเปรี้ยว……เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
8. เพื่อเพิ่มความเอร็ดอร่อยเข้าไปตามสไตล์รัสเซี้ยยยยย รัสเซีย ให้กินซุปนี้กับขนมปังดำ….รับรอง…..แม่ช้อยยังต้องย้อนกลับมารำให้ คริๆๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก Say Hi Russia

ลูกค้าเพิ่งกลับจากรัสเซีย

เป็นปลื้มเลย! ลูกทัวร์แฮปปี้…
#travel #russia #udachi #spb
เที่ยวรัสเซีย
เที่ยวรัสเซีย

รู้สกี้ มูเซ สวรรค์คนรักศิลปะ


THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION
THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION

สวัสดีค่ะแฟนเพจอูดาชี่
(ขายทัวร์ไม่ค่อยได้ จึงเริ่มตั้งตนเป็นเพจเพื่อความบันเทิง)ผ่านกันไปแล้วกับฤดูร้อนของรัสเซีย เข้าสู่ฤดูไปไม้ร่วงมาแล้วครึ่งทาง
อีกไม่กี่อาทิตย์ก็จะเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัวทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับพี่ๆ น้องๆ ชาวไทยที่ยังอยู่รัสเซีย
เพราะ จากประสบการณ์และความเห็นส่วนตัว
หน้าร้อน ร้อนตับแตก +30 องศาอัพขนาดนี้ หน้าหนาวปีนี้ก็มาแรง ชัวร์
ส่วนใครจะไปรัสเซียฤดูหนาวนี้ นอกจากเตรียมเสื้อผ้าอบอุ่นแล้ว
เตรียมตัวขนลุกไว้ด้วยได้เลยค่ะ
——–
จริงๆ แล้ว สเตตัสนี้สืบเนื่องจากฤดูร้อนที่ผ่านมา แอดมินมีโอกาสได้แว้บบบบบ เข้าไปดูนิทรรศการงานแสดงภาพเขียนชั่วคราว (วเร้เมนนายา วึ่ยสตัฟก่ะ – Временная Выставка) ที่ Russian State Museum หรือเรียกเป็นภาษารัสเซียพื้นบ้าน (ปา-รุสกี้) ว่า รุสกี้ มูเซย์ พิพิธภัณฑ์หลักของเมือง St. Petersburg มาค่ะ
(เอาเข้าไป! สเตตัสเดียว ทำทุกอย่าง
สอนภาษารัสเซียไปด้วย แนะนำที่เที่ยวไปด้วย)
———
โอเค! เข้าเรื่อง
รุสกี้ มูเซย์ เป็น พิพิธภัณฑ์ที่จัดรวมเอาภาพเขียน และงานศิลปะของ artist ชื่อดังชาวรัสเซีย เข้าไว้ด้วยกัน มีทั้งโซนจัดแสดงงานแบบถาวร และ โซนนิทรรศการชั่วคราว ซึ่งมักนำคอลเลคชั่นภาพเขียนของจิตรกรชื่อดัง มาจัดแสดงระยะสั้น
ปีนี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการภาพเขียนของ นิโคลัย เรริค (Nicholas Roerich) จิตรกรคนโปรดของแอดมินเอง เพราะ นิโคลัย เรริค นอกจากจะเป็น นักเขียน นักคิด และจิตรกรคนสำคัญ ของรัสเซียแล้ว ยังเป็นนักเดินทางตัวยงอีกด้วย
การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ จนเป็นตำนานของลุงเรริค คือ THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION ซึ่งใช้เวลาเดินทางถึง 5 ปี
เริ่มต้นจากเขตสิกขิม อินเดีย เข้าเขตปันจาป แคชเมียร์ ลาดักห์ ทะลุเอเชียกลาง ข้ามเทือกเขาคาราโครัม ไปอูรุมชิ ในจีน เข้ามองโกลเลีย ผ่านทะเลทรายโกบี ไปยังเทือกเขาอัลไต ในรัสเซีย ซึ่งเป็นการเดินทางแบบคาราวาน คือเดินเท้า สลับกับม้า แล้วเดินทางต่อจากไซบีเรีย ไปมอสโคว
(จิตใจของลุงทำด้วยอัลไล ฮืออออ)
ตลอดชีวิตของลุง ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีพจรลงเท้า ย้ายไปย้ายมาตลอด
ไอดอลแอดมินเลย
ชอบเที่ยว
————-
งานของลุงเรริค ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน สีสันจัดจ้าน แต่ดูเข้าถึงง่าย ภาพเขียนที่นำมาจัดแสดงใน รุสกี้ มูเซย์ แบ่งเป็น 2 คอลเล็คชั่น คือ
คอลเลคชั่นภาพเขียน Landscape แถบหิมาลัย เลห์ ลาดักห์ ซึ่งเป็นคอเล็คชั่นดังสุดฮิตของ ลุงเรริค เนื่องจากในสมัยนั้น ความกันดารของหิมาลัย ใครจะไปจะมา ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมลุงเป็นคนแรกๆ ที่กล้าและบ้าบิ่นพอ ที่จะเดินทางเสี่ยงและนานขนาดนี้ ลุงจึงกลับมาพร้อม material เป็นกระตั๊ก
อีกคอเลคชั่น คือ คอเลคชั่นภาพเขียนภาพประกอบนิทานพื้นบ้านรัสเซีย สวยงาม บางงานชิ้นใหญ่กว่าฝาบ้าน แต่งานน่ารัก สีสันสดใส น่าหลงใหล ราวกับทะลุมิติเข้าไปอยู่ในนิทานพื้นบ้านรัสเซีย
น้องๆ ที่กำลังเรียนเกี่ยวกับภาษารัสเซีย หรือ คนที่สนใจภาพเขียน
สามารถหาดูงานของ เรริค ได้ ตาม รุสกี้ มูเซย์, ตริทิยาคอฟสกาย่า กาเลียเรย่า
และ เสริชกูเกิ้ลเอาได้เลยค่ะ
ส่วนหน้าหนาวนี้ ใครจะไปรัสเซีย ถ้าหนาวจนทนไม่ไหว ก็แวะเข้า รุสกี้ มูเซย์ ไปชมงานศิลปะของจิตรกรชาวรัสเซียกันนะคะ สวยๆ ทั้งน้านนนนนน
หนุ่มๆ สาวๆ รัสเซียส่วนใหญ่ก็เข้าไปเดินก็จีบกันในพิพิธภัณฑ์นี่แหละค่ะ หิมะจะตก ก็ตกไปเหอะ เดินจูงมือกันหนุงหนิง มุ้งมิ้ง ชมภาพเขียนในพิพิธภัณฑ์ อบอุ่นและโรแมนติกสุดๆ นะ
ไม่เชื่อลองดูนะ
แอดมินลองมาแล้ว



THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION
THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION
THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION
THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION
THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION
THE CENTRAL ASIAN EXPEDITION

ทะเลสาบไบคาล: ตำนาน ชนเผ่า และความงดงามแห่งธรรมชาติ

ทะเลสาบไบคาล: ตำนาน ชนเผ่า และความงดงามแห่งธรรมชาติ ทะเลสาบไบคาล: มหัศจรร...